ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System) สามารถพบได้ทั่วไปตามตึกอาคารสูง สถานประกอบการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โกดังเก็บสินค้า หรือสถานที่ที่มีสิ่งมีชีวิตและทรัพย์สินมีค่าอยู่จำนวนมากที่ควรค่าแก่การรักษาและป้องกันจากอันตรายของอัคคีภัย
ระบบไฟอลาม ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องมือแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้เรารู้ถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว สามารถดำเนินการควบคุมก่อนที่เพลิงจะลุกลามมากขึ้น และสามารถอพยพผู้ที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัย
อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1.ตู้ควบคุม (Fire Alarm Control Panel)
เป็นศูนย์กลางของระบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์แจ้งเหตุทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในแต่ละพื้นที่ เมื่อได้รับสัญญาณแจ้งเหตุจากอุปกรณ์ใดจะทำการประมวลผล ส่งเสียงเตือนและแสดงจุดเกิดเหตุออกทางหน้าจอและแผงแสดงจุดเกิดเหตุตามผังอาคาร ส่งสัญญาณเตือนภัยออกทางอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ไปยังเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องหรือทั้งหมด และสั่งงานอุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆทั้งหมดตามขั้นตอนที่ได้โปรแกรมไว้
ในสภาพปกติที่ไม่มีการแจ้งเหตุเข้ามา ตู้ควบคุมจะทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบอยู่ตลอดเวลา เมื่อพบเหตุผิดปกติ เช่นสายวงจรขาดหรือลัดวงจร มีไฟรั่วลงดิน เกิดปัญหาที่แหล่งจ่ายไฟหลักหรือแบตเตอรี่ หรือเหตุขัดข้องอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ระบบทำงานได้ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เครื่องจะส่งสัญญาณเตือนแจ้งเหตุขัดข้อง (Trouble) พร้อมแจ้งจุดขัดข้องทางหลอดไฟหรือเป็นข้อความทางจอแสดงผล
โดยทั่วไปบนตู้ควบคุมจะมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
– หลอดไฟ( LED ) แสดงสถานะของระบบ เช่น หลอดไฟแสดงสถานะ Alarm ของแต่ละโซนตรวจจับ หลอดไฟแสดงสถานะ Trouble ทั้งของแต่ละโซนตรวจจับและปัญหาอื่นๆ ฯลฯ ในบางเครื่องอาจจะแสดงเหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อความออกทางจอ LCD แทนการใช้หลอดไฟ
– ปุ่มการควบคุมการทำงานต่างๆเบื้องต้น เช่น ปุ่มรับทราบเหตุการณ์ ( Acknowledge ) ปุ่มหยุดเสียงการแจ้งเหตุ ( Silence ) ปุ่มรีเซ็ต ( Reset ) ฯลฯ
2.อุปกรณ์แจ้งเหตุ (Initiating Device)
อุปกรณ์แจ้งเหตุเป็นอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ไปยังตู้ควบคุม ซึ่งจะแบ่งตามการทำงานออกเป็น 2 ชนิดคือ
2.1 อุปกรณ์แจ้งเหตุโดยตัวบุคคล (Manual Station)
เป็นอุปกรณ์แจ้งเหตุโดยใช้มือดึง หรือกด หรือทุบกระจก โดยบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ อุปกรณ์นี้จะติดตั้งให้คนเห็นได้ง่ายตามเส้นทางหนีภัย เช่นใกล้ประตูทางออก บันได
2.2 อุปกรณ์แจ้งเหตุอัตโนมัติ (Detectors)
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับสิ่งที่เป็นผลจากการเกิดเพลิงไหม้ เช่นก๊าซ CO² ควัน ความร้อน และเปลวเพลิง เป็นต้น และแจ้งเหตุไปยังตู้ควบคุมโดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการตรวจจับแต่ละแบบจะให้ผลแตกต่างกันไป ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ดังต่อไปนี้
2.2.1 อุปกรณ์ตรวจจับควัน ( Smoke Detector )
ทำหน้าที่ตรวจจับควันจากการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งให้ผลในการตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถตรวจจับเพลิงไหม้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเกิดเพลิง ที่เพิ่งเริ่มเกิดควันยังไม่ทันลุกลามเป็นเปลวไฟและเกิดความร้อน ทำให้มีเวลามากพอที่จะเข้าทำการตรวจสอบหรือดับเพลิงเบื้องต้น และเริ่มทำการอพยพคนออกจากพื้นที่ตามความจำเป็นก่อนจะประสบอันตราย
2.2.2 อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)
ทำหน้าที่ตรวจจับความร้อนจากการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งสามารถตรวจจับเพลิงไหม้ได้เมื่อเหตุลุกลามจนเริ่มมีเปลวไฟและเกิดความร้อนจนถึงอุณหภูมิวิกฤติ อุปกรณ์ตรวจจับชนิดนี้จะแบ่งวิธีตรวจจับเป็น 2 แบบ
-ชนิดตรวจจับอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิ (Rate of Rise) ใช้ตรวจจับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งจะทำงานอุณหภูมิเพิ่มขึ้นด้วยอัตราความเร็วสูงจนถึงค่าพิกัด (15◦ F ต่อนาที)
-ชนิดตรวจจับอุณหภูมิคงที่ (Fixed Temp) ใช้ตรวจจับอุณหภูมิที่สูงถึงค่าวิกฤติโดยปกติจะใช้ 135◦ F หรือ 200◦ F
-ชนิดคอมบิเนชั่น ( Combination) ภายในอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิดนี้จะมีการตรวจจับทั้งสองแบบข้างต้นอยู่ในตัวเดียวกัน
2.2.3 อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง (Flame Detector)
สามารถตรวจจับเพลิงไหม้ได้เมื่อมีการสันดาปหรือประกายไฟเกิดขึ้น เหมาะกับสถานที่ๆเกิดเปลวเพลิงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการลุกไหม้ ใช้ติดตั้งได้ทั้งพื้นที่ภายในอาคาร และพื้นที่มีการกองวัสดุภายนอกอาคาร ตลอดจนพื้นที่หรืออาคารที่มีการใช้ของเหลวไวไฟ ทั้งนี้ตลอดแนวมุมมองของอุปกรณ์ตรวจจับจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางหรือบดบังใดๆ
วิธีการตรวจจับของอุปกรณ์ชนิดนี้จะมี 2 แบบ
- อุปกรณ์ตรวจจับรังสีอินฟราเรด (Infra-Red, IR) จากเปลวเพลิง โดยตรวจจับประกายวูบวาบของการแผ่รังสีอินฟราเรดเป็นช่วงๆ ของเปลวเพลิงจากเชื้อเพลิงประเภทไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ที่ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะของเหลวเช่นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์จะทำงานตรวจจับ หากตรวจพบแสงที่ถูกตัดเป็นช่วง ๆ ด้วยมอเตอร์ หรือพัดลม หรือประกายวูบวาบจากดวงไฟ หรือจากการสะท้อนแสงที่ผิวของเหลวในความถี่ ใกล้เคียงกับเปลวเพลิงด้วยเช่นกัน
- อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิงแบบรังสีเหนือม่วง (Ultra-Violet, UV) จะทำงานตรวจจับการแผ่รังสีที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 220 นาโนเมตร ถึง 270 นาโนเมตร ซึ่งอยู่นอกแถบคลื่นแสง สำหรับการตรวจจับเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง หรือสารทำละลายที่มีธาตุโลหะเป็นองค์ประกอบที่เข้มข้น เช่น ประกายไฟจากการตัดโลหะ จากการเชื่อมโลหะ จากไฟฟ้าลัดวงจร และแสงวาบจากฟ้าผ่า เป็นต้น
3.อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ( Notification Devices)
อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เป็นอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเสียงหรือสัญญาณแสงเพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในบริเวณ หรืออาคารนั้นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอพยพบุคคลที่อยู่บริเวณนั้น สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะมีอยู่หลายชนิด อาทิเช่น แจ้งเหตุด้วยเสียงจาก กระดิ่ง ( Bell ) , เสียงอิเล็คทรอนิคส์ ( Horn ), เสียงสโลว์-วูฟ และเสียงประกาศจากลำโพง ( Speaker ), และ แจ้งเป็นแสงกระพริบ ( Strobe Light ) เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมและประเภทของอาคารว่าควรใช้เสียงชนิดใด โดยต้องมีระดับความดังตามมาตรฐานกำหนด
ระบบที่ระบุตำแหน่งเป็นพื้นที่ (Hard Wire) เหมาะสำหรับอาคารขนาดเล็ก
ตัวอย่าง Fire lite MS-10ud (ชนิด Hardwire)
ในระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้แบบทั่วไป จะใช้การเดินสายไฟเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยตัวบุคคลและตัวตรวจจับทั้งหมด เพื่อส่งสัญญาณกลับไปที่ชุดควบคุมหลัก โดยอาจแบ่งอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ออกเป็นพื้นที่ย่อย (โซน) เพื่อให้ระบุสาเหตุของสัญญาณเตือนได้ง่ายขึ้น โดยสถานะของแต่ละโซนจะแสดงที่แผงควบคุมสัญญาณเตือนไฟไหม้ ด้วยหลอดไฟแสดงสถานะหรือแสดงออกเป็นข้อความหรือหรือแสดงทั้งสองอย่าง ยิ่งเราแบ่งอาคารออกเป็นโซนย่อยๆได้มากเท่าไหร่ การระบุพื้นที่การแจ้งเตือนก็ยิ่งละเอียดมากขึ้นเท่านั้น
เหมาะสำหรับอาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีพื้นที่ตรวจจับไม่มากนัก อุปกรณ์แจ้งเหตุทั้งหมดจะเป็นชนิดสามัญ (Conventional) จะแบ่งเป็นกลุ่ม (โซน)ตามพื้นที่ ต่อร่วมกันส่งสัญญาณไปยังแผงควบคุมระบบผ่านสายวงจรของแต่ละกลุ่มนั้น ทำให้แผงควบคุมสามารถแสดงจุดเกิดเหตุจากพื้นที่ใดได้ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยทั้งเสียงหรือแสงทั้งหมดจะเป็นชนิดสามัญ (Conventional) จะต่อจากแผงควบคุมผ่านสายวงจรแจ้งสัญญาณ โดยอาจต่ออุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยทั้งหมดร่วมเป็นวงจรเดียวเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยพร้อมกันทั้งอาคาร
ระบบที่สามารถระบุตำแหน่งได้ (Addressable) เหมาะสำหรับอาคารขนาดใหญ่
ตัวอย่าง Notifier NFS2-3030 (ชนิด Addressable หรือ Multiplex)
ระบบนี้จะใช้อุปกรณ์แจ้งเหตุและอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ชนิดกำหนดหมายเลขประจำตัวได้ (Addressable) แผงควบคุมจะติดต่ออ่านค่าหรือสั่งงานระหว่างแผงควบคุมกับอุปกรณ์เหล่านี้เรียงตามหมายเลข โดยติดเป็นรหัสผ่านทางสายสัญญาณ Signal Line Circuit (SLC) ทำให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามมารถต่อรวมอยู่ใน SLC เดียวกัน โดยแผงควบคุมสามารถระบุได้ว่าอุปกรณ์แจ้งเหตุตัวใดที่แจ้งเหตุเข้ามา และจะสั่งงานให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ตัวใดของระบบทำงาน
เครื่องตรวจจับและอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยชนิดธรรมดาจะต่อตรงเข้ากับ SLC ไม่ได้ ถ้าต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านี้กับระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ชนิดแอดเดรส จะต้องต่ออุปกรณ์เหล่านี้ผ่านทาง อินพุตโมดูล (Monitor Module) หรือเอ้าท์พุทโมดูล (Control Module) แล้วแต่กรณี อุปกรณ์เหล่านี้อาจต่อได้หลายตัวในแต่ละโมดูล แต่การแสดงผลหรือการสั่งงานจะนับเป็นแอดเดรสเดียวของโมดูลนั้นๆ
จำนวนอุปกรณ์แอดเดรสสูงสุดในแต่ละลูปของแต่ละบริษัทผู้ผลิตจะแตกต่างกันไป สำหรับตู้ควบคุมของ Notifier แต่ละลูปจะต่ออุปกรณ์ตรวจจับชนิดแอดเดรสได้ถึง 159 แอดเดรส และอินพุท เอ้าท์พุท โมดูลรวมกันได้อีก 159 แอดเดรสอีกต่างหาก
ตัวอย่าง Notifier NFS-320 (ชนิด Addressable หรือ Multiplex)
ถ้าต้องการแอดเดรสมากกว่านี้ สามารถเลือกตู้ควบคุมที่ขยายลูปได้เป็น 2 ลูป (Notifier NFS2-640 หรือ Fire Lite MS-9600E) หรือเครื่องที่ขยายได้ถึง 10 ลูป (Notifier NFS2-3030 1-10 Loops) สำหรับระบบที่ใหญ่มากๆ สามารถใช้ตู้ควบคุมหลายตู้ต่อร่วมกันเป็นระบบเน็ตเวิร์คและโปรแกรมให้ทำงานสัมพันธ์กันเป็นระบบใหญ่ได้